skip to Main Content
ขอเชิญร่วมงาน ประเพณีงานเจ เยาวราช 66 ระหว่างวันที่ 14–23 ตุลาคม นี้

ขอเชิญร่วมงาน ประเพณีงานเจ เยาวราช 66 ระหว่างวันที่ 14–23 ตุลาคม นี้

✨ นายพินิจ กาญจนชูศักดิ์ ส.ก.เขตสัมพันธวงศ์ ร่วมแถลงข่าวงาน “ประเพณีงานเจ เยาวราช 2566” โดยมี นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องบอลรูม ชั้น 10 โรงแรมแกรนด์ ไชน่า เยาวราช เขตสัมพันธวงศ์
.
🏮สำหรับ “ประเพณีงานเจ เยาวราช 2566” จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 14–23 ตุลาคม 2566 ณ บริเวณซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ถนนเยาวราช ภายใต้แนวคิด “ใจบริสุทธิ์ สุขภาพดี มีมงคล” เพื่อให้ประชาชนได้สักการะและขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วทั้งเยาวราชที่อัญเชิญมาไว้ในมณฑลพิธี รักษาและดำรงไว้ซึ่งประเพณีถือศีลกินเจเยาวราชที่จัดขึ้นอย่างสมเกียรติและยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี ตลอดจนเพื่อให้ประชาชนได้รับประทานอาหารเจที่สะอาด ถูกหลักอนามัยและปลอดภัย โดยการจัดงานแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ งานด้านพิธีกรรม และงานด้านพิธีการ
.
🔴 งานด้านพิธีกรรม ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่
.
1. มงคลสถาน: ใช้พื้นที่บริเวณซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เยาวราช ซึ่งเป็นมณฑลพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเยาวราชให้ความเคารพและเคยต้อนรับเจ้าฟ้ามหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์มาโดยตลอด เป็นพื้นที่มณฑลพิธีอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับประเพณีงานเจปีนี้
.
2. ตำนาน 22 ศาลเจ้า: ในแต่ละปีมีประชาชนจากทั่วทุกมุมโลกมากราบไหว้ขอพรที่ศาลเจ้าต่าง ๆ ทั้ง 22 ศาลเจ้าในเยาวราช และใน 1 ปี จะมีการรวมผงธูปเพื่อเป็นมวลสาระสำคัญในการประกอบพิธี โดยปีนี้จะมีพิธีรวมผงธูปจาก 22 ศาลเจ้า และจะอัญเชิญผงธูปมวลสารมาประดิษฐานที่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เยาวราช ตลอดงานกินเจ 10 วัน ซึ่งเปรียบเสมือนกับการรวมใจเป็นหนึ่งเดียว สามัคคีกลมเกลียวเป็นปึกแผ่น
.
3. จิตแห่งศรัทธา: คณะกรรมการจะทำพิธีแห่อัญเชิญเทพเจ้าของการกินเจ “กิวอ๋อง ฮุกโจ้ว เต้าบ้อเนี้ย น่ำซิ้ง ปั๊กเต้าแชกุง” ทั้ง 12 องค์บนเกี้ยว โดยมีทหารจากกรมกิจการพลเรือนทหารบก กองบัญชาการทหารบก ซึ่งผ่านพิธีปวารณาตนถือศีลกินเจมาแล้วทั้งหมด ทำหน้าที่ในการแบกและแห่ จากวัดโลกานุเคราะห์มาประดิษฐานที่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เยาวราช ตลอดงานกินเจ 10 วัน เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชา
.
🔴 งานด้านพิธีการ
🥘 คณะกรรมการได้จัดให้มีการทำอาหารเจมงคลกระทะใหญ่ “ผัดหมี่สวรรค์ ธัญพืชมงคล” โดยเชฟจากโรงแรมแกรนด์ ไชน่า เยาวราช มาเป็นมาสเตอร์เชฟในการปรุงอาหาร พร้อมแจกฟรีให้ผู้ร่วมงาน จำนวน 1,000 จาน ในพิธีเปิดงานวันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม 2566
.
🏵️ รวมถึงได้จัดทำ “ขนมฮ๊วกก๊วย” ขนมมงคลที่ผ่านพิธีกรรมการบูชาเทพเจ้ามาแล้ว มาเป็นส่วนผสมในอาหารเจมงคลกระทะใหญ่ด้วย โดยบนขนมฮ๊วกก๊วยจะมีการประทับอักษรเจมงคล 4 ตัว ได้แก่ “กิ้ว อ๋อง เซ้ง อ้วย” โดย กิ้ว 九 หมายถึง เก้า 9 อ๋อง 皇 หมายถึง อ๋อง หรือกษัตริย์ เซ้ง 勝 หมายถึง ความสำเร็จ และ อ้วย 會 หมายถึง มวลมหาสมาคม ซึ่งหมายความว่า กษัตริย์หรือเทพเจ้าทั้ง 9 พระองค์ ได้ประธานความสำเร็จให้กับมวลมหาสมาคม ณ ที่แห่งนี้
.
🧧 ในวันเดียวกัน จะมีขบวนแห่รถบุปผชาติองค์สมมติพระโพธิสัตว์กวนอิมที่ยิ่งใหญ่และสวยงาม การแสดงโชว์เชิดมังกรปีนเสา ล่อแก้ว พ่นไฟ และสิงโตต่อตัวตีลังกา ขบวนเทิดพระเกียรติ ขบวนจากผู้สนับสนุน และขบวนอื่น ๆ อีกมากมาย รวมทั้งการจำหน่ายอาหารเจคุณภาพเลิศรสจากผู้ประกอบการกว่า 150 ร้านค้า เรียงรายเต็มพื้นที่ 2 ฟากฝั่งถนนเยาวราช ตลอดระยะเวลา 10 วัน 10 คืน พร้อมยกระดับมาตรฐานอาหารเจแบบสตรีทฟู้ดสู่สากล
.
ในส่วนของกำหนดการขบวนแห่ประเพณีงานเจ เยาวราช 2566 มีดังนี้
.
🏮วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2566 เวลา 14.00 – 16.00 น. พิธีแห่อัญเชิญเทพเจ้า “กิวอ๋อง ฮุกโจ้ว เต้าบ้อเนี้ย น่ำซิ้ง ปั๊กเต้าแชกุง” บนเกี้ยว ตั้งแต่วัดโลกานุเคราะห์ ไปประดิษฐานที่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เยาวราช
.
🏮วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม 2566 เวลา 18.00 – 20.00 น. ขบวนแห่รถบุปผชาติองค์สมมุติพระโพธิสัตว์กวนอิม ขบวนสิงโต มังกร ขบวนเทิดพระเกียรติ ขบวนจากผู้สนับสนุนที่พร้อมใจกันพาเหรดเพื่อประเพณีงานเจ เยาวราช 2566 ตั้งแต่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เยาวราช – ถนนเยาวราช – แยกราชวงศ์ – แยกเสือป่า – ถนนเจริญกรุง และสิ้นสุดที่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เยาวราช
.
🏮 วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2566 เวลา 14.00 – 20.00 น. ขบวนแห่กระทงสะเดาะเคราะห์ ตั้งแต่วัดโลกานุเคราะห์ – แยกราชวงศ์ – แยกเสือป่า – ถนนเจริญกรุง – ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เยาวราช – ถนนเยาวราช – ถนนมังกร – ถนนทรงวาด – ท่าน้ำสวัสดี / ถนนตรีมิตร – ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เยาวราช – ถนนเยาวราช – แยกราชวงศ์ และสิ้นสุดที่วัดโลกานุเคราะห์
.
🏮 วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม 2566 เวลา 21.00 – 22.00 น. พิธีแห่อัญเชิญเทพเจ้า “กิวอ๋อง ฮุกโจ้ว เต้าบ้อเนี้ย น่ำซิ้ง ปั๊กเต้าแชกุง” บนเกี้ยวกลับ ตั้งแต่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เยาวราช และสิ้นสุดที่วัดโลกานุเคราะห์
—————————

ผู้ชมทั้งหมด 330 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 3 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top