กำชับกทม.ดูแลปัญหาลักลอบทิ้งขยะเศษวัสดุก่อสร้างในพื้นที่เขตลาดกระบัง พร้อมแนวทางบริหารจัดการขยะให้ครบวงจร
(10 ม.ค.67) นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยที่ 1 (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง
.
ในที่ประชุม นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ยื่นกระทู้ถามสด เรื่อง การแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งขยะในพื้นที่เขตลาดกระบัง
.
“เมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้รับหนังสือร้องเรียนเรื่องการลักลอบทิ้งขยะ ช่วงซอยร่มเกล้า 19 แยก 6 ต่อเนื่องถึงซอยร่มเกล้า 19 แยก 12 และหลังหมู่บ้านครินทร์การ์เด้น มีรูปถ่าย ภาพประกอบพร้อมแผนที่ละเอียด เรื่องนี้ได้เคยนำมาหารือในที่ประชุมสภากทม.มาแล้ว โดยเป็นจุดที่ใกล้เคียงจุดเดิมและปัญหายังคงมีอยู่ จึงขอถามฝ่ายบริหารว่า กทม.บริหารจัดการขยะได้ครบวงจรแล้วหรือไม่ รวมถึงได้เสนอแก้ไขกฎหมายให้เข้มงวดขึ้นหรือไม่ และมีมาตรการประชาสัมพันธ์สถานที่ทิ้งขยะเพียงพอหรือไม่“ ส.ก.สุรจิตต์ กล่าว
.
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ปัญหาขยะในกทม.ถือเป็นเรื่องใหญ่ จากเดิมปริมาณขยะ 10,000 ตันต่อวัน ขณะนี้ลดเหลือ 9,000 ตัน ขยะที่ท่านส.ก.กล่าวถึงจะมาจากการรับเหมาก่อสร้างแล้วนำเศษวัสดุไปลอบทิ้ง ซึ่งพบว่ายังมีในพื้นที่อื่นด้วย เช่น พื้นที่การรถไฟ ซึ่งได้มีการประสานให้แก้ไขแล้ว
.
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดเก็บขยะของกรุงเทพมหานคร ในทุกวันนี้ รวมทุกประเภท ได้ดำเนินการอย่างครบวงจรแล้ว ทั้งขยะทั่วไป เศษกิ่งไม้ ขยะชิ้นใหญ่ และขยะก่อสร้างด้วย ซึ่งกรุงเทพมหานครมีหน้าที่รับขยะทุกประเภทจากประชาชน โดยมีค่าธรรมเนียมตามกฎหมาย เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายที่ส.ก.สอบถาม ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักเทศกิจ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักงานเขต หารือการบริหารจัดการโดยใช้มาตรการทางกฎหมายแล้ว ซึ่งกฎหมายแต่ละฉบับก็มีอำนาจปรับที่แตกต่างกัน จึงได้มีหนังสือกำชับให้หน่วยงานดำเนินการให้เคร่งครัด ส่วนแนวคิดการปรับกฎหมายให้มีความทันสมัยมากขึ้นเป็นเรื่องที่กทม.ขอรับมาพิจารณาดำเนินการต่อไป
.
สำหรับมาตรการป้องกัน แก้ไข และประชาสัมพันธ์ ที่ได้กำหนดแนวทางไว้ ประกอบด้วย
1.มาตรการป้องกันแก้ไขและการประชาสัมพันธ์ กำหนดจุดทิ้งขยะริมถนนสายหลัก สายรอง กำหนดเวลาทิ้ง 18.00-03.00 น.จัดเก็บให้เสร็จภายใน 05.00 น.
2.ประชาสัมพันธ์ให้ทิ้งขยะตามเวลากำหนด โดยกำหนดเส้นทางเก็บขยะครอบคลุมทุกพื้นที่ 1,856 เส้นทาง และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ
3.นำเข้าเส้นทางเก็บขยะในแผนที่ google map ตรวจสอบย้อนหลังจาก GPS
4.ควบคุมการทิ้งขยะผิดกฎหมาย โดยประชาสัมพันธ์และออกหนังสือแจ้งหน่วยงานรัฐ เจ้าของที่ดินหรือผู้ครอบครองอาคาร ให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงและดูแลที่ดินของตนให้เกิดความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย
5.แก้ไขปัญหาลักลอบทิ้งขยะที่ว่าง สำนักงานเขตเข้าปรับปรุงสภาพแวดล้อม จัดเก็บขยะ ทำรั้วชั่วคราว ทำป้ายห้ามทิ้งขยะ และป้ายแนะนำให้แจ้งเขตพื้นที่หากต้องการทิ้งขยะ
6.ประชาสัมพันธ์การบริการเก็บขยะแบบจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นครั้งคราว จัดพิมพ์แผ่นพับ ประชาสัมพันธ์ทางสื่อออนไลน์ และเอกสารแผ่นพับ
.
ส.ก.สุรจิตต์ กล่าวว่า นอกจากการประชาสัมพันธ์ขยะจากบ้านเรือนแล้ว ขอให้กทม.ดำเนินการประชาสัมพันธ์ขยะที่ไม่ได้มาจากบ้านเรือนด้วย โดยเฉพาะขยะจากผู้รับเหมา และสั่งการสถานที่รับซื้อขยะ ไม่รับซื้อขยะที่มาจากการลักลอบมา เช่นการตัดสายไฟเพื่อนำสายทองแดงมาขาย โดยให้ดำเนินการอย่างเคร่งครัด รวมถึงในขณะนี้ค่าฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้น สาเหตุมาจากการเผา จึงขอให้กทม.เร่งประชาสัมพันธ์ และดูแลในจุดอับ จุดบอดที่ยังดูแลไม่ทั่วถึงด้วย
————————————
ผู้ชมทั้งหมด 789 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง