skip to Main Content
คณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณางบปี 68 พิจารณารายงานงบสำนักการโยธา พร้อมรับฟังข้อสังเกตอนุกรรมการ

คณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณางบปี 68 พิจารณารายงานงบสำนักการโยธา พร้อมรับฟังข้อสังเกตอนุกรรมการ

ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง : (28 ส.ค. 67) นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568
.
โดยคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้พิจารณางบกลาง และหารือความเหมาะสมการตั้งงบประมาณสำหรับเงินสำรองจ่ายทั่วไปกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น กรณีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับน้ำท่วม และกรณีค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนากรุงเทพมหานคร โดยมีนางสาวกนกวรรณ เอี่ยมลิ้ม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร ชี้แจงรายละเอียด
.
จากนั้น คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้พิจารณารายงานผลการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ของคณะอนุกรรมการ สำนักการโยธา โดยมี นายนภาพล จีระกุล ประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้นำนายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา คณะผู้บริหารสำนักการโยธา ร่วมชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการขอจัดสรรงบประมาณและข้อสังเกตของคณะอนุกรรมการ ดังนี้
.
คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของสำนักการโยธา ได้มีข้อสังเกตสำหรับหน่วยงาน หลังจากได้มีการประชุมและลงพื้นที่จริง ดังนี้
1. การจัดทำโครงการก่อสร้าง การปรับปรุงซ่อมแซมถนน ทางเท้า และผิวจราจร ทุกรายการจำเป็นต้องมีการวางแผนการดำเนินงาน การจัดทำแผนมาตรฐานทางวิศวกรรม การจัดทำแผนงบประมาณ ความคุ้มค่า และการแก้ไขปัญหาในเชิงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น สำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง หน่วยงานราชการภายนอก หน่วยงานสาธารณูปโภคต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความรวดเร็วและครบถ้วนสมบูรณ์ ตลอดจนเกิดผลกระทบเดือดร้อนต่อประชาชนให้น้อยที่สุด
2. การตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักการโยธา โครงการต่อเนื่องที่มีระยะเวลาผูกพันเกินกว่า 2 ปีขึ้นไป ควรคำนึงถึงความคืบหน้าการดำเนินงาน การกำหนดแผนงานและแผนการเบิกจ่ายเงินตามข้อเท็จจริง เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า
3. ในระหว่างดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงทุกรายการต้องมีป้ายแสดงสัญลักษณ์ให้ทราบว่าเป็นสถานที่ก่อสร้าง รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์ในการแจ้งเตือนเรื่องความปลอดภัย เช่น สัญญาณไฟกระพริบ ระบบไฟฟ้าส่องสว่างให้เพียงพอ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา หากเป็นโครงการก่อสร้างหรือปรับปรุงถนนและผิวจราจร จำเป็นต้องให้มีการจัดการจราจรที่มีประสิทธิภาพด้วย
4. การจัดทำโครงการก่อสร้าง ปรับปรุงต่าง ๆ จะต้องไม่กีดขวางหรือถมทับทางระบายน้ำ จุดใดที่มีทางระบายน้ำ ต้องเน้นการออกแบบให้ถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิชาการ เพื่อรักษาทางระบายน้ำไว้และยังถือเป็นการป้องกันน้ำท่วมอีกด้วย
5. ในการพิจารณาตั้งงบประมาณงานก่อสร้าง ปรับปรุงต่างๆ ควรจะมีการเวนคืนนที่ดินให้แล้วเสร็จร้อยละ 100 หรือไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 เพื่อจะได้ส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างได้ทันทีหลังจากลงนามสัญญา อีกทั้งยังทำให้การดำเนินงานจะได้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ ตลอดจนประชาชนจะได้เข้าถึงบริการสาธารณูปโภคได้รวดเร็ว ทั้งนี้ยังเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้รับจ้างนำเหตุผลในการเข้าพื้นที่ล่าช้ามาใช้เป็นเหตุผลในการขอขยายอายุสัญญา
6. ควรเร่งรัดการบริหารจัดการงานและโครงการต่าง ๆ ให้มีความคืบหน้าตามแผนงานที่กำหนด มีการควบคุมงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีการพิจารณาดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบและถือปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด
7. การดำเนินกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ ควรมีการประเมินปัญหาอุปสรรค ผลสัมฤทธิ์ว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ประโยชน์ที่กรุงเทพมหานครและประชาชนจะได้รับ และต้องมีการติดตามและรวบรวมผลการประเมินมาปรับปรุงพัฒนางานที่จะทำต่อไปให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงและยั่งยืน
8. การออกแบบอาคารสถานที่และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ จำเป็นต้องคำนึงการประหยัดพลังงาน ประหยัดค่าไฟฟ้า คำนึงถึงความคุ้มค่า เช่น ติดตั้งระบบพลังงานโซลาเซลล์ ระบบโซล่ารูฟท็อป และมีการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกและการใช้งานเป็นไปตามอารยสถาปัตย์ด้วย
9. การจัดหาครุภัณฑ์ประเภทเครื่องจักรกล เครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ควรพิจารณาด้วยความรอบคอบ ควรคำนึงถึงการใช้งานที่คงทน คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
10. การออกแบบช่องรับน้ำบนผิวจราจร หรือบนถนน หรือบนสะพานรถข้าม ควรมีขนาดใหญ่เท่ากับตะแกรงรับน้ำ เพื่อให้การระบายน้ำเกิดประสิทธิภาพ รวมถึงการออกแบบฝาบ่อและขอบฝาท่อระบายน้ำ จำเป็นต้องใส่โครงสร้างเหล็กไว้ด้วย เพื่อเสริมความแข็งแรงให้สามารถใช้งานได้ทนทาน
.
ในที่ประชุม คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ตั้งข้อสังเกตรายละเอียดงบประมาณของหน่วยงานในเรื่องการรับงบประมาณจากสำนักอื่นเพื่อดำเนินการก่อสร้างหรือปรับปรุงโครงการขนาดใหญ่ ควรตรวจสอบรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อนว่าสำนักการโยธาสามารถดำเนินการโครงการได้ตั้งแต่จนจบหรือไม่หลังจากได้รับการจัดสรรงบประมาณ เนื่องจากหลายโครงการที่สำนักการโยธารับงบประมาณมาจากหน่วยงานอื่นมาแล้วนั้นดำเนินการได้เพียงร่างขอรับงบประมาณเท่านั้น ต้องขอยกเลิกโครงการไปก่อน เนื่องจากหน่วยงานไม่สามารถดำเนินการในส่วนอื่นต่อได้ เช่น มีผู้บุกรุกพื้นที่โครงการที่ได้รับงบประมาณมา แต่ไม่สามารถออกคำสั่งไล่รื้อได้ เพราะเกินอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน ทำให้งบประมาณที่ได้รับไปนั้นไม่ได้ก่อหนี้และเสียเวลาดำเนินการ จากนั้นคณะกรรมการวิสามัญฯ เน้นย้ำสำนักการออกแบบ สำนักการโยธา ให้เร่งดำเนินการออกแบบโครงการที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อจะได้นำเข้าสู่กระบวนการหาผู้รับจ้างในขั้นตอนต่อไป
————————

ผู้ชมทั้งหมด 29 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 1 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top