skip to Main Content
ส.ก.ตั้งข้อสังเกตให้ฝ่ายบริหารกทม.ตั้งงบเพื่อดูแลความปลอดภัยประชาชนและแก้ไขปัญหาของพื้นที่ให้ตรงจุด

ส.ก.ตั้งข้อสังเกตให้ฝ่ายบริหารกทม.ตั้งงบเพื่อดูแลความปลอดภัยประชาชนและแก้ไขปัญหาของพื้นที่ให้ตรงจุด

(22 ก.ค.65) นางสาวนฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ โฆษกสภากรุงเทพมหานคร พร้อม นายจิรเสกข์ วัฒนมงคล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตธนบุรี นายประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล ส.ก. เขตห้วยขวาง นายอนุรักษ์ เลิศวัฒนาไพบูลย์ ส.ก.เขตวังทองหลาง และนายตกานต์ สุนนทวุฒิ ส.ก.เขตหลักสี่ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการประชุมคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สภากรุงเทพมหานคร ซึ่งคณะกรรมการฯพิจารณารายละเอียดในส่วนของสำนักและสำนักงานเขตได้พบเห็นปัญหาและตั้งข้อสังเกตุงบประมาณหน่วยงานของกรุงเทพมหานครหลายประการ

นายจิรเสกข์ กล่าวว่า ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณางบประมาณสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) จากการประชุมและลงพื้นที่ติดตามข้อเท็จจริงร่วมกับสปภ.พบว่า ภายหลังกรุงเทพมหานครได้รับถ่ายโอนภารกิจด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาแล้วกว่า 20 ปี แต่ยังไม่ได้รับการพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์เท่าที่ควร สำหรับในปีนี้ก็ได้รับงบประมาณในจำนวนที่ไม่มากนัก ไม่เพียงพอต่อการดูแลประชาชนทั้ง 50 เขต ตลอดจนคุณภาพชีวิตของเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยของกทม.ยังไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควรและเหมาะสม ฝ่ายบริหารจึงควรให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณของสปภ.ให้มากกว่านี้

“จากเหตุเพลิงไหม้ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่ของกทม.มีปัญหาทั้งเรื่องเครื่องแบบ อุปกรณ์และยังไม่ได้รับการฝึกอบรมให้มีความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายบริหารจึงควรพิจารณางบประมาณสนับสนุนให้ถี่ถ้วนมากขึ้นเพื่อให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างปลอดภัย” โฆษกสภากทม. กล่าว

ด้าน ส.ก.อนุรักษ์ กล่าวในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณางบประมาณสำนักงานเขตวังทองหลาง ว่า งบประมาณของเขตส่วนใหญ่เป็นงบประมาณในส่วนของค่าใช้จ่ายประจำปี มีส่วนที่เหลือสำหรับการแก้ไขปัญหาในชุมชนน้อยมาก ดังนั้นในการพิจารณางบประมาณของฝ่ายบริหารจึงควรพิจารณางบประมาณให้สอดคล้องกับปัญหาของแต่ละพื้นที่ สอดคล้องกับ ส.ก.เขตห้วยขวาง นายประพฤทธ์ ที่เห็นว่างบประมาณของเขตห้วยขวาง กว่า 354 ล้านบาท เป็นงบลงทุนน้อยมากหากเทียบกับงบประเภทอื่น ๆ  ในขณะที่เขตห้วยขวางมีปัญหาหลากหลาย จึงควรมีการตั้งงบประมาณสำหรับการแก้ไขปัญหาด้านกายภาพของพื้นที่ด้วย และนายตกานต์ กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณของสำนักงานเขต แต่ละเขตมีงบประมาณกว่า 300 ล้านบาท แต่ 30% เป็นงบประมาณเงินเดือนบุคลากร อีกส่วนเป็นรายการค่าใช้จ่ายปกติ ทำให้เหลืองบประมาณที่จะใช้บรรเทาปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าไม่มาก

โฆษกสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ส.ก.ทำหน้าที่ใกล้ชิดกับพื้นที่เขต ดังนั้นจึงมีความเชี่ยวชาญในการติดตามปัญหาของเขต งบประมาณที่ตั้งเพื่อชดใช้เงินยืม มีจำนวนมากกว่างบลงทุน ทำให้มีอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประชาชน ซึ่งการดูแลประชาชนยังคงต้องทำต่อเนื่อง 365 วัน ทั้งนี้ขอให้ฝ่ายบริหารพิจารณาความเหมาะสมของการตั้งงบประมาณของทุกหน่วยงาน ทั้งงบประมาณทั่วไปและงบประมาณสำหรับการดูแลสาธารณภัยให้กับประชาชน เพื่อดูแลประชาชนให้มีประสิทธิภาพและเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้วย

ทั้งนี้คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้เริ่มประชุมพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ ของหน่วยงานตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.เป็นต้นมา โดยจะพิจารณางบประมาณในส่วนของสำนักงานเขตระหว่างวันที่ 21 – 27 ก.ค.  จากนั้นจะพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ ของหน่วยงานระดับสำนัก ระหว่างวันที่ 1 – 8 ส.ค. จากนั้นจะเป็นการพิจารณารายการแปรญัตติ และคณะกรรมการวิสามัญฯ จะเข้ารายงานผลการพิจารณาต่อสภากรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาในวาระที่สองและวาระที่สามในวันที่ 17 ส.ค.65
———————————–

ขอบคุณภาพและข่าว จากสำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร

ผู้ชมทั้งหมด 463 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 1 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top