คณะกรรมการวิสามัญฯ สภากทม. ติดตามการใช้งบด้านการศึกษาอย่างใกล้ชิด พร้อมให้คำแนะนำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเรียนการสอนของร.ร.กทม.
(3 ส.ค.65) ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง : นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ โดยในวันนี้เป็นการพิจารณางบประมาณของสำนักการศึกษา สำนักวัฒนธรรรม กีฬาและการท่องเที่ยว และสำนักพัฒนาสังคม
นายณภัค เพ็งสุข ประธานอนุกรรมการพิจารณางบประมาณสำนักการศึกษา พร้อม นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา และผู้บริหารสำนักการศึกษา ได้เข้าชี้แจงงบประมาณ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 437 แห่ง และได้แบ่งประเภทของโรงเรียนกทม.เป็น โรงเรียนที่จัดการศึกษาพิเศษ (เรียนร่วม) จำนวน 158 แห่ง โรงเรียนสองภาษา จำนวน 83 แห่ง (ไทย-จีน 69 แห่ง/ไทย-อังกฤษ 14 แห่ง) โรงเรียนสอนภาษาอาหรับ จำนวน 71 แห่ง โรงเรียนสอนภาษามลายู จำนวน 7 แห่ง และโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น จำนวน 12 แห่ง นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้จัดโครงการทุนเอราวัณ มอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับชั้น ม.6 ของโรงเรียนในสังกัดกทม. หรือบุตรของข้าราชการและบุคลากร กทม.ที่มีใจรักในวิชาชีพครู ให้ได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีทางการศึกษา ปีละ 100 ทุน
ที่ประชุมได้สอบถามความคืบหน้าการดำเนินโครงการคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ พร้อมให้คำแนะนำแก่หน่วยงานและขอให้เร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ เนื่องจากความล่าช้าจะทำให้นักเรียนเสียโอกาสในการศึกษา รวมถึงการเพิ่มค่าตอบแทนให้แก่ครูที่ทำการสอนเด็กพิเศษ เนื่องจากการเป็นครูเด็กพิเศษจำเป็นต้องมีความเสียสละ มีความตั้งใจและต้องใช้ทักษะความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ที่สำคัญคณะกรรมการวิสามัญฯ ขอให้สำนักการศึกษาจัดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนโดยอาจจับคู่กับโรงเรียนนานาชาติเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนกทม.ได้ศึกษาภาษาต่างประเทศกับอาจารย์เจ้าของภาษา และส่งเสริมการให้ทุนแก่นักเรียนกทม.และบุตรข้าราชการ ลูกจ้างของกทม.ให้ได้รับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายเกรียงไกร กล่าวว่า สำนักการศึกษาพร้อมนำแนวคิด และคำแนะนำของคณะกรรมการวิสามัญฯในครั้งนี้ไปต่อยอดพัฒนาการศึกษาของกรุงเทพมหานคร ให้งบประมาณที่ได้รับมีความคุ้มค่า เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาของกทม.ต่อไป
จากนั้น นายธนวัฒน์ เชิดชูกิจกุล ประธานอนุกรรมการพิจารณางบประมาณสำนักวัฒนธรรรม กีฬาและการท่องเที่ยว พร้อม นายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว และผู้บริหารสำนัก ได้เข้าชี้แจงงบประมาณ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับภารกิจของสำนัก และภาพรวมนักท่องเที่ยวที่เข้าในกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามามากที่สุดคือ นักท่องเที่ยวอินเดีย มาเลเซียและสิงคโปร์ สำหรับโครงการส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวในต่างประเทศ (Roadshows/Trade shows) ในปี 2566 จะร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดกิจกรรม 2 ครั้ง คือ งาน International Tourismus Borse 2023 (ITB 2023) ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กำหนดจัดงานเดือนมีนาคม 2566 และงาน Arabian Travel Market (ATM 2023) ณ นครดูไป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กำหนดจัดงานเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเข้าร่วมบูธ20,000 คน ต่อครั้ง จากนั้นผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของลานกีฬากรุงเทพมหานครและค่าตอบแทนอาสาสมัครลานกีฬา สำหรับยอดผู้ใช้บริการลานกีฬา ในปี 64 มีจำนวนผู้ใช้บริการลดลงเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 โดยในปี 64 มีผู้ใช้ลานกีฬากว่า 6.4 ล้านคน ที่ประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ จึงขอให้ทบทวนโครงการลานกีฬาเนื่องจากกทม.ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ผลที่ได้รับไม่สามารถวัดได้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน รวมถึงให้สำนักวัฒนธรรมฯลงพื้นที่สำรวจสภาพจริงของลานกีฬาในปัจจุบันเพื่อจัดทำคำของบประมาณให้เหมาะสม ในส่วนของการของบประมาณเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์การท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร www.bangkoktourist.com ให้เป็นปัจจุบัน และขอให้พิจารณาเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน International Children’s Games หรือ ICG ซึ่งกรุงเทพมหานครเคยเป็นเจ้าภาพในปี ค.ศ.2006 และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก
นายสุชัย พงษ์เพียรชอบ ประธานอนุกรรมการพิจารณางบประมาณสำนักพัฒนาสังคม พร้อม นางอณุสรา ชื่นทรวง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม และผู้บริหารสำนัก ได้เข้าชี้แจงงบประมาณ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับภารกิจของสำนัก ประกอบด้วย การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงการส่งเสริมอาชีพผู้มีรายได้น้อย การจัดบริการสังคมโดยคำนึงถึงความเสมอภาค การให้การสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมนในทุกมิติ สำหรับสถิติการฝึกอาชีพของประชาชนที่สามารถนำความรู้จากการฝึกอาชีพไปต่อยอดสร้างอาชีพและรายได้ ที่ผ่านโรงเรียนฝึกอาชีพของกทม. 10 แห่ง มีนักเรียนฝึกอาชีพประมาณ 12,000 รายต่อปี บางรายเรียนเพื่อไปประกอบอาชีพเปิดกิจการของตนเอง เป็นผู้รับจ้าง และบางรายเรียนไปเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน โดยในปี 65 มีผู้สนใจมาเรียนมากถึง 40,000 เนื่องจากสำนักได้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ และประชาชนต้องการเรียนเพื่อไปประกอบอาชีพมากขึ้น
จากนั้น คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้สอบถามความคืบหน้าโครงการปรับปรุงและพัฒนาศูนย์บริการผู้สูงอายุดินแดง และหลักเกณฑ์การตั้งชุมชน ซึ่งสำนักพัฒนาสังคมชี้แจงว่า สำหรับโครงการปรับปรุงและพัฒนาศูนย์บริการผู้สูงอายุดินแดง ระยะเวลาก่อสร้าง 215 วัน ปัจจุบันทำได้กว่า 90 % ล่าช้ากว่าแผนงานที่กำหนดไว้ เหลือเพียงงานปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์เพียงเล็กน้อยจะแล้วเสร็จ ในส่วนของหลักเกณฑ์การตั้งชุมชน เป็นไปตาม ระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยชุมชนและกรรมการชุมชน พ.ศ. 2564 คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้เสนอให้สำนักพัฒนาสังคมพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดตั้งชุมชนเพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ถูกจัดตั้งตามระเบียบกรุงเทพมหานครและสามารถรับการสนับสนุนและการดูแลจากกรุงเทพมหานครได้อย่างทั่วถึงต่อไป
———————–
ขอบคุณภาพและข่าว จากสำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร
ผู้ชมทั้งหมด 364 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง