skip to Main Content
สภากทม.รับหลักการร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 68 ตามที่ผู้ว่าฯ กทม.เสนอ พร้อมตั้งคกก.วิสามัญพิจารณา กำหนดแล้วเสร็จภายใน 45 วัน

สภากทม.รับหลักการร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 68 ตามที่ผู้ว่าฯ กทม.เสนอ พร้อมตั้งคกก.วิสามัญพิจารณา กำหนดแล้วเสร็จภายใน 45 วัน

สภากทม.รับหลักการร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 68 ตามที่ผู้ว่าฯกทม.เสนอ พร้อมตั้งคกก.วิสามัญพิจารณา กำหนดแล้วเสร็จภายใน 45 วัน
.
🧑💻 นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 5) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมการประชุม ณ สภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
.
💰 ผู้ว่าฯ กทม.เสนอร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 90,000 ล้านบาท
.
🤵♂️ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยกล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้กำหนดวงเงินให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและสถานะการเงินการคลังของกรุงเทพมหานคร บนหลักของการมีประสิทธิภาพและความโปร่งใส โดยกรุงเทพมหานครได้ประมาณการรายรับ 91,004.15 ล้านบาท ประกอบด้วย ก. ประมาณการรายรับของกรุงเทพมหานคร 90,000 ล้านบาท ข. ประมาณการรายรับของการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร 1,004.15 ล้านบาท ประมาณการรายจ่าย 90,828.53 ล้านบาท ประกอบด้วย ก. ประมาณการรายจ่ายของกรุงเทพมหานคร 90,000.00 ล้านบาท ข. ประมาณการรายจ่ายของการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร 828.53 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณได้มีงบประมาณรายจ่ายสำหรับใช้เป็นหลักในการจ่ายเงินของกรุงเทพมหานคร ซึ่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกับพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดให้การจัดทำงบประมาณประจำปีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องพิจารณาฐานะการคลัง ความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายงบประมาณ การจัดเก็บรายได้ และต้องทำอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยต้องพิจารณาผลสัมฤทธิ์ ความคุ้มค่า ความประหยัด และภาระทางการคลังที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นไปโดยชอบตามกฎหมาย จึงขอแถลงในรายละเอียดเกี่ยวกับฐานะการคลัง สาระสำคัญของนโยบายงบประมาณและความสัมพันธ์ระหว่างประมาณการรายรับและงบประมาณรายจ่ายที่ขอตั้ง ดังนี้
.
จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมในปี 2566 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ภาคบริการชะลอตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ สำหรับการส่งออกขยายตัวสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม แต่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่ประกาศใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีในช่วงกลางปี โดยในปี พ.ศ. 2567 คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องอย่างช้าๆ อันเนื่องจากปัจจัยของสงคราม รวมถึงบทบาทสนับสนุนของนโยบายการคลังในช่วงที่เหลือของปี และการขยายตัวของภาคการส่งออกตามการฟื้นตัวของการค้าโลก
.
สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ดังนั้นกรุงเทพมหานคร จึงจำเป็นต้องพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการให้บริการสาธารณะ ตามอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร การกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ประกอบกับการวางมาตรฐานทางด้านสาธารณสุข เพื่อพื้นฟู เยียวยา และรับมือกับสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุและโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น งบประมาณจึงเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนทำให้เส้นเลือดฝอยเข้มแข็ง สามารถจัดบริการสาธารณะให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที
.
💰โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กรุงเทพมหานครประมาณการว่าสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิทั้งสิ้น 90,000 ล้านบาท ที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของกรุงเทพมหานคร สำหรับการบริหารรายจ่ายของกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ พอเพียง และสามารถนำนโยบายของกรุงเทพมหานครไปสู่การปฏิบัติรวมทั้งเกิดประโยชน์โดยตรงต่อประชาชน
.
💰 นโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2568
.
หน่วยรับงบประมาณ ยกเว้นการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานครได้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายรวมทั้งสิ้น 123,518.72 ล้านบาท ซึ่งตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้กำหนดไว้ว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายห้ามตั้งรายจ่ายประจำสูงกว่ารายได้ประจำ กรุงเทพมหานครจึงมีนโยบายการจัดทั้งงบประมาณแบบสมดุล โดยต้องพิจารณาการของบประมาณรายจ่ายให้ตรงตามความจำเป็นเร่งด่วน ภาระผูกพันของงานและโครงการต่าง ๆ เพื่อตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ให้แก่หน่วยรับงบประมาณของกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเป็นเงินอุดหนุน จำนวน 63,456.71 ล้านบาท ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรผ่านการพิจารณารับหลักในวาระที่ 1 แล้วเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
.
💰 สาระสำคัญของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
.
ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่ได้นำเสนอต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครได้พิจารณาถึงเหตุผล ความจำเป็นในการใช้จ่ายงบประมาณ ตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ของหน่วยรับงบประมาณที่จะต้องเกิดความคุ้มค่า ประหยัด โดยคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในวาระที่ 1 ขอสรุปสาระสำคัญของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ดังนี้ นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี วงเงินงบประมาณ 24,431 ล้านบาท ประกอบด้วย บริหารจัดการดี 376 ล้านบาท (1.54%) สังคมดี 676 ล้านบาท (2.77%) เศรษฐกิจดี 88 ล้านบาท (0.36%) เรียนดี 491 ล้านบาท (2.01%) สุขภาพดี 2,298 ล้านบาท (9.41%) สิ่งแวดล้อมดี 6,643 ล้านบาท ( 27.19%) โปร่งใสดี 99 ล้านบาท (0.41%) ปลอดภัยดี 2,801 ล้านบาท (11.46%) และ เดินทางดี 10,959 ล้านบาท (44.86%) รวมถึงงบประมาณเพื่อเส้นเลือดฝอย 13,340.97 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต ประกอบด้วย ปรับปรุงถนน ตรอกซอย ทางเดินทางเท้า ปรับปรุงลานกีฬา สวนสาธารณะ ไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง ปรับปรุงโรงเรียน และ ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ส่วนงบประมาณจำแนกด้านตามลักษณะงานและลักษณะรายจ่ายด้านการบริหารจัดการและบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 19.36% (17,427.32 ลบ.) ด้านความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย 0.35% (313.60 ลบ.) ด้านเศรษฐกิจและการพาณิชย์ 0.26% (233.29 ลบ.) ด้านเมืองและการพัฒนาเมือง 15.59% (14,031.64 ลบ.) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 12.71% (11,436.91 ลบ.) ด้านสาธารณสุข 4.25% (3,823.15 ลบ.) ด้านพัฒนาสังคมและชุมชนเมือง 1.98% (1,777.24 ลบ.) ด้านการศึกษา 1.17% (1,049.97 ลบ.) การจัดบริการของสำนักงานเขต 22.41% (20,173.23 ลบ.) รายจ่ายงบกลาง 18.66% (16,796.53 ลบ.) รายจ่ายเพื่ออุดหนุนหน่วยงานในกำกับ 3.26% (2,937.12 ลบ.)
.
จากนั้นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมอภิปรายอย่างกว้างขวาง ดังนี้
.
👨💼 นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภากรุงเพมหานครเขตมีนบุรี ได้ให้ข้อสังเกตว่า ควรให้โครงการขนาดใหญ่ของ กทม. ขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล และให้พิจารณางบประมาณเพื่อพัฒนาเส้นเลือดฝอยของสำนักงานเขตให้มากขึ้น
👨💼 นายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตวัฒนา ได้อภิปลายในด้านการปรับงบประมาณรายรับ เพื่อไม่ให้เกินกับรายจ่ายโดยอาจจะจัดการเก็บภาษีรูปแบบต่างๆ ให้มากขึ้น
👨💼 นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล สมาชิกสภา กรุงเทพมหานคร เขตคลองสาน ได้ให้ข้อห่วงใยว่า ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบการดำเนินการตามงบประมาณที่ขอไปของหน่วยงานต่าง ๆ ให้ละเอียดรอบคอบ ให้คุ้มค่า โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะเป็นหน้าที่โดยตรงของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
👨💼 นายพีรพล กนกวลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตพญาไท ให้ข้อสังเกตว่า ควรเน้นการพัฒนาระดับส่วนท้องถิ่น ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่แค่ต้องการชีวิตที่ดี เดินออกจากบ้านแล้วถนนดี น้ำไม่ท่วม เดินทางสะดวก มากกว่าอภิมหาโปรเจคโครงการขนาดใหญ่
👨💼 นางอนงค์ เพชรทัต สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตดินแดง กล่าวว่า เห็นด้วยกับการกองงบประมาณผูกพันไปเพื่อการพัฒนาของหน่วยงานต่างๆ แต่อยากจะให้ดำเนินการให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
👨💼 นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตยานนาวา ตั้งข้อสังเกตุว่า การของไปอบรมสัมมนาเป็นเม็ดเงินงบประมาณจำนวนมาก สามารถในเงินนั้นมาจ้างลูกจ้างในสำนักงานเขตอัตราเงินเดือน 15,000 บาท เพิ่มขึ้นได้จำนวน 345 คน หรือ เขตละ 6 คน อีกทั้งทุกวันนี้กทม.เก็บภาษีได้เพียง 40-50% ซึ่งกทม.ควรมีเจ้าหน้าที่สำรวจและจัดเก็บภาษีหรือเพิ่มรอบการสำรวจเพื่อให้การเก็บภาษีมีประสิทธิภาพและเพิ่มรายได้เข้ากทม.ได้มากยิ่งขึ้น จะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากกว่าการจัดสัมมนาหรือไม่ เช่น พิจารณาจากตัวชี้วัดหลังสัมมนาว่า มีการจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นตามเป้าหมายก่อนสัมมนาหรือไม่ เพื่อประเมินความคุ้มค่าของการจัดสัมมนา และงบประมาณที่หน่วยงานได้รับ
👨💼 นางสาวศศิธร ประสิทธิ์พรอุดม สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตพระนคร กล่าวว่า ผู้บริหารกรุงเทพมหานครควรไว้ใจสำนักงานเขตในการจัดสรรงบประมาณ โดยจัดสรรงบประมาณมาสู่สำนักงานเขตให้มากกว่านี้ เพราะพี่น้องประชาชนฝากชีวิตไว้กับสำนักงานเขตมากกว่าสำนักต่างๆ
👨💼 นางกนกนุช กลิ่นสังข์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตดอนเมือง อภิปรายว่า ในปีนี้ ทุกหน่วยงานต้องระบุการดำเนินการให้ชัดเจนในเอกสารให้ถูกต้อง เพื่อให้ทราบว่างบประมาณที่ขอจัดสรรไปนั้นเหมาะสมกับรูปแบบการดำเนินการ หรือไม่
👨💼 นายสราวุธ อนันต์ชล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตพระโขนง เสนอให้บูรณาการการออกแบบการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดปัญหาการทับซ้อนในการก่อสร้าง ให้ทางเท้าในกรุงเทพฯ เดินได้เดินดี ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและคุ้มค่างบประมาณที่เสียไป
👨💼 นายณรงค์ รัสมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก ตั้งข้อสังเกตว่า อยากให้กระจายงบประมาณในพื้นที่ใหญ่ ๆ ก่อนพื้นที่ที่เล็กกว่า รวมถึงการเร่งดำเนินการปรับปรุงโครงการที่ยังไม่แล้วเสร็จให้เรียบร้อย
👨💼 นายอานุภาพ ธารทอง สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสาทร เสนอนโยบายด้านที่ 10 ท่องเที่ยวดี เพิ่มสาธารณูปโภคอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ
👨💼 นายวิรัช คงคาเขตร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกอกใหญ่ อภิปรายถึงด้านการศึกษา ซึ่งจะเห็นได้ว่าบางพื้นที่มีโรงเรียนไม่เพียงพอ ควรเฉลี่ยโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ให้มีความเสมอภาคกัน
👨💼 นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตทุ่งครุ อภิปรายว่า ควรผลักดันงบประมาณด้านสาธารณสุข ดิจิตอล และการจราจรให้มากขึ้น
👨💼 นายตกานต์ สุนนทวุฒิ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตหลักสี่ มีความเป็นห่วงทั้งในด้านการแพทย์ และการศึกษาเพราะเกี่ยวเนื่องกับประชาชนโดยตรง หากไม่ให้ความสำคัญก็อาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี
👨💼 นายเอกกวิน โชคประสพรวย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตราชเทวี อภิปรายว่า การจัดซื้อคุรุภัณฑ์ไฟฟ้าบางประเภท ควรต้องมีมาตรฐานมอก.บังคับ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน
👨💼 นายอภิวัฒน์ ด่านศรีชาญชัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจตุจักร การจัดทำงบประมาณควรเน้นย้ำการจัดสรรงบประมาณอย่างมีส่วนร่วมจากประชาชนโดยแท้จริง
👨💼 นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตบางกอกน้อย เน้นย้ำกทม. เขียน TOR ตลอดจนการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ภายนอก ให้ละเอียดรอบคอบ
👨💼 นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง เฮียล้าน เป็นห่วงคนกรุง มุ่งเน้นงานเร็ว มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล
.
ฝ่ายบริหารนำโดย นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล นายจักกพันธุ์ ผิวงาม ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวช และนายศานนท์ หวังสร้างบุญ ร่วมกันชี้แจงประเด็นการอภิปลายของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
.
ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบรับหลักการร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 และให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ จำนวนทั้งสิ้น 37 คน
.
ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้พิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่สภาฯได้พิจารณารับร่างข้อบัญญัติ จึงขอให้คณะกรรมการวิสามัญฯ ดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดภายในวันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2567
——————————————————-
สามารถ Scan QR Code เพื่ออ่านข่าวฉบับเต็มได้ที่ภาพด้านล่าง

ผู้ชมทั้งหมด 192 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top