skip to Main Content
เสนอกทม.เพิ่มศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ด้านจิตเวชให้ครอบคลุม แก้ปัญหาโรครุมเร้าคนกรุงฯ🏥🩺

เสนอกทม.เพิ่มศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ด้านจิตเวชให้ครอบคลุม แก้ปัญหาโรครุมเร้าคนกรุงฯ🏥🩺

ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (17 ม.ค.67) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครเพิ่มศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ด้านจิตเวชให้ครอบคลุมในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร
.
📌ด้วยองค์การอนามัยโลกได้วางแนวทางรณรงค์ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพจิต เนื่องจากปัจจุบันปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยพบ 1 ใน 8 คนทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน ข้อมูลจากสำนักการแพทย์ ช่วงปี 2564-2566 พบว่า จำนวนผู้ป่วยจิตเวชมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2566 มีผู้รับบริการคลินิกสุขภาพจิตในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 51,776 ราย แบ่งเป็นกลุ่มอาการทางจิตเวชที่พบมากที่สุด 5 อันดับ คือ 1.กลุ่มอาการจิตเภท 2.กลุ่มอาการวิตกกังวล 3. กลุ่มอาการจิตเภทแบบระแวง 4.กลุ่มอาการกลัวสุดขีดจนผิดปกติ 5.กลุ่มอาการปรับตัวที่ผิดปกติ ขณะเดียวกันบุคลากรทางการแพทย์ด้านจิตเวช เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ขาดแคลนทั้งในเชิงปริมาณและทักษะในการบำบัดด้านจิตเวชที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน และเรื้อรัง โดยโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครที่มีบริการคลินิกจิตเวช มีจำนวน 9 โรงพยาบาล🏥 ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน และโรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ มีจิตแพทย์ จำนวน 12 คน นักจิตวิทยา จำนวน 15 คน ซึ่งไม่เพียงพอเมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนผู้ป่วยจิตเวช ทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลรวมถึงเมื่อพบผู้มีอาการทางจิตเวช ไม่ว่าจะเป็นคนไร้บ้านหรือผู้เสพยาเสพติด แล้วไม่สามารถส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครอาจทำให้เกิดอันตรายต่อประชาชนได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการลดปัญหาด้านสุขภาพจิตและจิตเวชของประชาชนในสังคมปัจจุบัน จึงขอให้กรุงเทพมหานครเพิ่มศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ด้านจิตเวชให้ครอบคลุมในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร
.
📢“จิตแพทย์กับนักจิตวิทยามีความแตกต่างกัน ทั้งเรื่องของหลักสูตรการเรียน ระยะเวลาในการเรียน จิตแพทย์สามารถจ่ายยาให้คนป่วยได้ แต่นักจิตวิทยาไม่สามารถจ่ายยาให้ผู้ป่วยได้ จำนวนผู้ป่วย ในปี 64-66 ในกลุ่มประเภทต่าง ๆ พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า ปัญหาการขาดแคลนจิตแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร สถานที่ตั้งของโรงพยาบาลที่ไม่ครอบคลุม เหล่านี้คือปัญหาที่ถูกมองข้าม ขอให้ฝ่ายบริหารเร่งแก้ไข รวมทั้งการแก้ไขปัญหาครุภัณฑ์ขาดแคลน การจัดทำห้องจ่ายกลาง (ห้องปราศจากเชื้อ)” ส.ก.สุรจิตต์ กล่าว
.
⭐️รศ.ทวิดา กมลเวช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า อัตราของจิตแพทย์ในรพ.สังกัดกทม.มีน้อยจริง และไม่เพียงพอต่อสถานการณ์โรคที่รุมเร้าคนกรุงเทพฯ ขณะนี้ได้สั่งให้สำนักการแพทย์เร่งจัดหาบุคลากรให้เต็มกรอบอัตรากำลัง ในช่วงระหว่างนี้จะหารือกับกรมสุขภาพจิต เพื่อให้บริการ Teleconsult กับจิตแพทย์ในสถานพยาบาลอื่น ทั้งสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และสังกัดอื่น โดยนักจิตวิทยาและจิตวิทยาคลินิกที่มีอยู่จะเป็นผู้พูดคุยและให้คำปรึกษาเบื้องต้น ก่อนการพบจิตแพทย์ นอกจากนี้จะเชื่อมกับแอปพลิเคชัน Sati (สติ) และ DMIND ซึ่งจะรวมถึงกลุ่มอาการซึมเศร้าและโรคเครียด ปัจจุบันมีผู้รับบริการกว่า 1.8 แสนคน ผู้ป่วยบางคนสามารถรับการบำบัดเบื้องต้นได้ หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการในระดับเหลืองหรือแดงจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาล นอกจากนี้โรงพยาบาลสังกัดกทม.จะขยายการให้บริการ ถึงแม้จะไม่สามารถขยายWardได้โดยเร็ว แต่จะกั้นเป็นสัดส่วนเพื่อรองรับผู้ป่วยได้จำนวนมากขึ้น รวมถึงการรับผู้ป่วยยาเสพติดด้วย ในขณะเดียวกันจะดำเนินการจ้างแพทย์ห้วงเวลาเพื่อประจำรพ.และศูนย์บริการสาธารณสุขให้มากขึ้น สำหรับการทำห้องเวชภัณฑ์กลาง จะได้สั่งให้สำนักการแพทย์ทบทวนรายการเพื่อให้โรงพยาบาลได้มีห้องเวชภัณฑ์กลางตามสัดส่วนที่เหมาะสมของตนเอง
————————-

ผู้ชมทั้งหมด 448 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top